Saturday, September 18, 2010

“The One Minute Manager … ผู้จัดการ 1 นาที”

สรุปเนื้อหาและการนำประยุกต์ใช้ในด้านบริหาร
เรื่อง “The One Minute Manager … ผู้จัดการ 1 นาที”
 โดย นางสาวพณพร  เกษตรเวทิน
เนื้อหา
เนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนี้แต่งในลักษณะเรื่องเล่าจากประสบการณ์ที่ว่า มีชายผู้หนึ่งต้องการค้นหาผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพ  เพราะต้องการทำงานกับบุคคลเช่นนี้  อยากเรียนรู้ที่จะเป็นผู้จัดการเช่นนั้นบ้าง  แต่หลายปีที่ผ่านไปกับการค้นหาไปทั่วทุกมุมโลก  ทั้งเมืองใหญ่ เมืองเล็ก จนเขาพอจะเห็นภาพรวมของวิธีที่บุคคลใช้บริหารบุคคล  แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เขารู้สึกพอใจทั้งหมด 
เขาพบเจอกับผู้จัดการที่เก่งงาน  แต่ไม่เก่งคน เจอทั้งผู้จัดการที่เก่งคน  แต่ไม่เก่งงาน  แต่บุคคลที่เขาต้องการเจอคือ “ผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องสามารถบริหารตนเองและบุคคลที่ร่วมงานด้วย  ในลักษณะที่ทำให้องค์กรและบุคลากรได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”  หากเมื่อเขาได้ค้นพบ ผู้จัดการเหล่านั้นกลับไม่ยินดีที่จะบอกเคล็ดลับของการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพนั้นให้แก่เขาได้รับรู้  ดังนั้น เขาจึงค้นหาต่อไป
ในที่สุดเขาได้พบกับสุดยอดผู้จัดการคนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “ผู้จัดการ 1 นาที” บุคคลผู้นี้สร้างความแปลกใจให้กับเขาอย่างมาก  นับตั้งแต่เริ่มต้นขอนัดพบเพื่อสัมภาษณ์ เพราะคำตอบที่ได้รับทำให้เขาคิดว่า ผู้จัดการประเภทไหนกันที่มีเวลาให้เขาเข้าพบอย่างเหลือเฟือ และผู้จัดการที่บอกว่าเป็นสุดยอดคนนี้จะยอมพูดคุยและบอกเคล็ดลับของการบริหารแก่เขาหรือไม่
เมื่อเขาได้เข้าพบผู้จัดการที่เรียกตนเองว่า “ผู้จัดการ 1 นาที”  ผู้จัดการก็ยังไม่ทำให้เขาเชื่อถือกับวิธีการที่ท่านพูดให้ฟังสักเท่าไร  แต่ผู้จัดการก็บอกกับเขาให้เข้าไปพูดคุยกับพนักงานในบริษัทของท่านได้ทุกคน ดังนั้นเขาจึงขอนัดหมายเพื่อทำการสัมภาษณ์บุคลากรของบริษัทแห่งนี้เพื่อหาเหตุผลมาสนับสนุนหรือหักล้างความเชื่อที่ว่าผู้จัดการผู้นี้จะเป็นสุดยอดผู้จัดการที่แท้จริง
บุคลากรของบริษัทที่เขานัดพบมีทั้งหมด 3 คน ล้วนแล้วแต่มีวัยวุฒิ  คุณวุฒิและบุคลิกภาพ ที่แตกต่างกันไป   หลังจากเขาออกมาจากห้องผู้จัดการแล้วเขาก็ได้พบกับบุคลกร 2 คน  ที่ล้วนทำให้เขารู้สึกทึ่งกับวิธีการบริหารแบบ 1 นาทีของผู้จัดการอย่างมากเพราะพวกเขาบอกเคล็ดลับของวิธีการ “การกำหนดเป้าหมาย 1 นาที” และ “การชมเชย 1 นาที”   แต่ด้วยความที่ยังอยากจะพิสูจน์ถึงคุณภาพของการจัดการ (คน) ที่ส่งผลต่อผลผลิต (งาน) เขาจึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ  เพื่อหาว่าบริษัทใดที่ทำผลผลิตได้สูงและมีประสิทธิภาพที่สุด  คำตอบก็คือบริษัทของผู้จัดการ 1 นาทีอีก  ครั้งนี้ทำให้เขาเริ่มไว้วางใจและกลับเข้าไปหาคำตอบและเคล็ดลับของการบริหารแบบ 1 นาที ที่เขายังได้รับคำตอบไม่ครบ
เมื่อเขากลับมาที่บริษัทอีกครั้งก็ได้พบบุคลากรอีกคนหนึ่งที่ให้คำตอบถึงเคล็ดลับที่ 3 ของการบริหารแบบนี้คือ “การตักเตือน 1 นาที”  เมื่อเขานำมันมาประมวลรวมกันและเข้าพบกับผู้จัดการอีกครั้งก็ได้รับรู้ถึง ที่มาและเหตุผลที่ทำให้วิธีการต่างๆ  ของการบริหารแบบ 1 นาที นั้นใช้ได้ผลดี


วิธีการต่างๆ ของวิธีการบริหารแบบ 1 นาทีประกอบไปด้วย
1.       การกำหนดเป้าหมาย 1 นาที”
การกำหนดเป้าหมาย 1 นาทีเป็นเรื่องง่ายๆ แค่
1.1      กำหนดเป้าหมาย
1.2      ดูว่าพฤติกรรมที่ดีมีลักษณะอย่างไร
1.3      เขียนเป้าหมายแต่ละข้อของคุณลงในกระดาษแผ่นเดียวโดยใช้คำไม่เกิน 250 คำ
1.4      อ่านและทบทวนเป้าหมายแต่ละข้อ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาเพียง 1 นาที หรือใกล้เคียงในแต่ละครั้งที่อ่าน
1.5      หาเวลาสักวันละ 1 นาทีเพื่อตรวจสอบผลการทำงานของคุณเป็นพักๆ
1.6      ดูว่าพฤติกรรมของคุณตรงกับเป้าหมายหรือไม่
คำคม  “การเป็นผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้จัดการและลูกน้องไม่แน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำและวิธีไหนที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

2.      การชมเชย 1 นาที
การชมเชย 1 นาที ใช้ได้ผลดีเมื่อคุณ
2.1      บอกพนักงานให้รู้แต่เนิ่นๆ ว่าคุณจะให้พวกเขาทำอะไรและผลงานที่ดีเป็นอย่างไร
2.2      ชมเชยพนักงานในทันที
2.3      บอกพนักงานถึงสิ่งที่พวกเขาทำได้ถูกต้อง  โดยระบุชัดเจน
2.4      บอกพนักงานว่าคุณรู้สึกดีเพียงใดกับสิ่งที่พวกเขาทำได้ถูกต้อง  และการทำเช่นนั้นมีส่วนช่วยองค์กรและพนักงานคนอื่นๆ ในที่ทำงานเดียวกันอย่างไร
2.5      หยุด  เงียบสักครูเพื่อให้พวกเขา “ซึมซาบ” ความรู้สึกดีของคุณ
2.6      ส่งเสริมให้พวกเขาทำเช่นเดียวกันนี้เพิ่มขึ้น
2.7      จับมือหรือแตะแขนของพนักงานในลักษณะที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าคุณสนับสนุนให้พวกเขาประสบความสำเร็จภายในองค์กร
คำคม  “ช่วยให้คนทำงานได้เต็มศักยภาพ  จับตาเมื่อเขาทำสิ่งถูก”
            กุญแจสำคัญในการฝึกฝนใครก็ตามให้ทำหน้าที่ใหม่ๆ ได้ก็คือ ในระยะแรกต้องจับตา  เมื่อพวกเขาทำสิ่งที่พอจะถูกต้องจนกระทั่งพวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะทำมันได้อย่างถูกต้องจริงๆ ในที่สุด

3.      การตักเตือน 1 นาที
การตักเตือน 1 นาทีใช้ได้ผลดีเมื่อ
3.1      บอกพนักงานให้รู้ก่อนว่า คุณจะให้พวกเขาทำอะไร และผลงานที่ดีเป็นอย่างไร โดยบอกในลักษณะที่ไม่คลุมเครือ
ช่วงครึ่งแรกของการตักเตือน
3.2      ตักเตือนพนักงานในทันที
3.3      บอกพนักงานถึงสิ่งที่พวกเขาทำผิดพลาด โดยระบุชัดเจน
3.4      บอกพนักงานว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่พวกเขาทำผิดพลาดและบอกในลักษณะที่ไม่คลุมเครือ
3.5      หยุดนิ่งเพื่อสร้างความน่าอึดอัดสัก 2-3 วินาที เพื่อให้พวกเขา “รู้สึก” ในสิ่งที่คุณรู้สึก
ช่วงครึ่งหลังของการตักเตือน
3.6      จับมือ หรือแตะแขนของพนักงานในลักษณะที่บ่งบอกให้พวกเขารู้ว่าคุณอยู่ฝ่ายเดียวกับพวกเขาอย่างจริงใจ
3.7      เตือนให้พวกเขารู้ว่าคุณเห็นคุณค่าของพวกเขาเพียงใด
3.8      ยืนยันซ้ำว่าคุณรู้สึกดีกับพวกเขา แต่ไม่ใช่กับผลงานในสถานการณ์นี้
3.9      ตระหนักว่าเมื่อการตักเตือนจบลง  ก็คือจบอย่างแท้จริง
ข้อคิดสำหรับการตักเตือน 1 นาที
1)      การประเมินผลงานเป็นขั้นตอนที่จะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง  ไม่ใช่แค่ปีละครั้ง
2)      การแก้ปัญหาพฤติกรรมทีละปัญหาทันทีที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งย่อมจะมีความยุติธรรมและชัดเจนมากกว่าการแก้ปัญหารวบยอดในตอนท้าย
3)      ถ้าเราเป็นคนเข้มงวดกับเรื่องพฤติกรรมใน ตอนแรก แล้วให้กำลังใจบุคคลนั้น ทีหลัง มันจะใช้ได้ผล
4)      ส่วนประกอบพื้นฐานเพียง 3 ส่วนนั่นคือ บอกให้บุคคลคนนั้นรู้ว่าเขาทำผิด  บอกให้รู้ว่าคุณรู้สึกเช่นไรกับเรื่องนั้นแล้วจึงเตือนให้เขารู้ว่าเขาเป็นคนที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การพัฒนาทางพฤติกรรมของบุคคลได้เป็นอย่างดี
5)      บุคคลจำเป็นต้องได้รับการตักเตือนอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหมายถึงการมีใครสักคนคอยใส่ใจและคอยรั้งเขาไว้เมื่อเขาทำตัวไม่เหมาะสม

ข้อคิดของผู้จัดการสำหรับเตือนตนและเป็นหลักการในการบริหาร
1.       บุคคลที่รู้สึกดีกับตัวเอง ย่อมสร้างผลงานที่ดี
2.      นาทีอันมีค่าที่เราใช้ไป  คือนาทีที่เราลงทุนไปกับบุคลากร
3.      ทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ชนะ  บางคนแฝงตัวมาในร่างของผู้แพ้  อย่าให้ภาพลักษณ์ภายนอกของพวกเขาหลอกคุณได้
4.      ใช้เวลาสัก 1 นาทีดูเป้าหมายของคุณ  ดูผลการทำงานของคุณ  ดูว่าพฤติกรรมของคุณตรงกับเป้าหมายหรือไม่
5.      เราไม่ใช่พฤติกรรมที่เราเป็น   เราเป็นบุคคลที่จัดการกับพฤติกรรมของเรา
6.      เป้าหมายก่อเกิดพฤติกรรม   ผลสืบเนื่องดำรงพฤติกรรมไว้

ในที่สุดชายผู้ค้นหาผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพก็ได้พบ “ผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องสามารถบริหารตนเองและบุคคลที่ร่วมงานด้วย  ในลักษณะที่ทำให้องค์กรและบุคลากรได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” และได้เข้าร่วมงานที่บริษัทนั้น  จนไม่นานนักเขาก็สามารถเป็น “ผู้จัดการ 1 นาที” ได้  โดยสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาตนเองและบุคลากรในองค์กรของเขาให้เกิดมี ผู้จัดการ 1 นาทีแบบนี้ไปอีกมากมาย เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่สร้างองค์กรที่เข้มแข็งทั้งด้าน คุณภาพคนและคุณภาพงาน  และด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของวิธีการบริหารแบบ 1 นาที  เขาจึงทำการ์ดขนาดกระเป๋าที่ชื่อ แผนผังเกม ขึ้น  เพื่อให้บุคคลรอบตัวเขาเข้าใจง่ายขึ้นถึงการก้าวเป็นผู้จัดการ 1 นาที  และเขายังแจกการ์ดนี้เป็นของขวัญที่มีประโยชน์สำหรับลูกน้องทุกคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาเขา  โดยแผนผังเกมมีหน้าตาดังนี้

การประยุกต์ใช้งานด้านบริหาร
            การบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นงานหลักของผู้บริหารทุกคน  ไม่ว่าจะรับผิดชอบส่วนงานที่เล็กหรือใหญ่โตพียงใด  หรือแม้กระทั่งการเป็นทำหน้าที่ครูก็ยังต้องใช้ศาสตร์ด้านการบริหารบุคคลในชั้นเรียนให้นักเรียนหรือทุกคนในองค์กรนั้นสามารถพัฒนาตนเอง  สร้างสรรค์ผลงานในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบได้สูงสุด 
วิธีการบริหารแบบผู้จัดการ 1 นาที สามารถนำไปใช้ได้จริง และมีหลักจิตวิทยา  หลักปรัชญารองรับ มีตัวอย่างเหตุการณ์และเหตุผลมาสนับสนุนถึงปรัชญาเหล่านั้น  ดังนั้นหากเรานำเอาวิธีการ  กำหนดเป้าหมาย ไปใช้อย่างถูกต้อง  รู้จักชมเชย  จับตามองอย่างใกล้ชิดในช่วงแรกๆ หลังมอบหมายงานเพื่อหาจุดที่จะชมเชยให้เขามีความภูมิใจในตนเองและเกิดความเชื่อมั่น  และตักเตือนทันทีที่พบว่างานเกิดความผิดพลาด โดยไม่ลืมที่จะย้ำชัดว่าเราเห็นคุณค่าของเขา 

1.        กำหนดเป้าหมายให้กับคณะครู ระบุถึงหน้าที่ในส่วนงานต่างๆ ที่คุณครูต้องทำให้ชัดเจน รวมถึงระบุถึงประสิทธิภาพของผลงานที่ต้องการ
2.      เมื่อครูที่เข้ารับหน้าที่ใหม่ๆ รับทราบถึงเป้าหมายแล้ว ผู้บริหารคอยจับตาดู และเมื่อคุณครูทำงานนั้นได้ก็ชมเชยทันที  โดยระบุถึงสิ่งที่คุณครูทำได้ถูกต้อง  บอกถึงความรู้สึกของผู้บริหารและให้กำลังใจเพื่อให้คุณครูปฏิบัติงานนั้นต่อไป
3.      หากพบว่าคุณครูที่ทำหน้าที่ได้ดี  บกพร่องในหน้าที่ ให้ตักเตือนทันทีโดยระบุถึงความผิดพลาดที่พบอย่างชัดเจน โดยไม่ลืมที่จะบอกถึงความรู้สึกของผู้บริหารกับผลของความผิดพลาดครั้งนี้  ที่สำคัญคือไม่ลืมที่จะให้กำลังใจคุณครูท่านนั้นและยืนยันว่าคุณครูท่านนั้นมีความสำคัญต่อองค์กร
4.      เมื่อการตักเตือนจบลง ก็ให้จบอย่างแท้จริง 

การนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารชั้นเรียน
1.       กำหนดเป้าหมายของพฤติกรรมการเรียนรู้ที่นักเรียนจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้ (บอกตัวชี้วัดที่นักเรียนต้องผ่าน รวมถึงวิธีที่จะผ่าน)
2.      คอยจับตาดูนักเรียนขณะทำการเรียนการสอน  หากมีจุดที่สามารถให้คำชมเชยได้  ต้องรีบชมเชยโดยชมอย่างจริงใจ  บอกถึงความรู้สึกของครูที่มีต่อพฤติกรรมที่ดีของเขา สนับสนุนและให้กำลังใจให้เขาทำต่อไป
3.      หากพบพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้ตักเตือนทันที  โดยระบุถึงพฤติกรรมให้เห็นอย่างชัดเจน  บอกว่าคุณครูรู้สึกผิดหวังเพียงใด บอกให้เขารู้ว่าเขามีคุณค่าและสามารถทำได้ดีกว่านี้  ย้ำให้เขารับรู้ว่าคุณครูรักและเมตตาเขาเหมือนเดิม แต่ไม่ใช่ในสถานการณ์ที่เขามีพฤติกรรมแบบนี้  อย่าลืมให้กำลังใจเพื่อให้เขาปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น
4.      เมื่อตักเตือนแล้วก็จบ  อย่านำเรื่องความผิดพลาดของเด็กไปพูดต่อให้เพื่อนครูหรือเด็กห้องอื่นได้ยิน

“คุณค่าของหนังสือขนาด 97 หน้า มีมากกว่าจำนวนนับที่เห็น”

1 comment:

  1. จะหาหนังสือเล่มนี้ได้ที่ใหนบ้าง

    ReplyDelete